ไข้เลือดออกเป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสแดงกี ซึ่งโรคนี้สามารถแพร่กระจายจากบุคคลหนึ่งไปยังบุคคลหนึ่งโดยยุงลายเพศเมียที่มีเชื้อกัด อาจก่อให้เกิดการเจ็บป่วยและเสียชีวิตได้ เป็นได้ทุกวัย ในปี พ.ศ. 2561 ประเทศไทยมีผู้ป่วย
โรคไข้เลือดออก จำนวน 85,849 คน ในจำนวนนี้เสียชีวิตมากกว่าหนึ่งร้อยคน ถือได้ว่าเป็นโรคติดต่อที่มีแมลงเป็นพาหะที่มีความสำคัญมากของประเทศไทย
ยุงพาหะนำโรคไข้เลือดออกได้แก่ ยุงลายบ้าน (Aedes aegypti) และยุงลายสวน (Aedes albopictus)
ยุงลายบ้านมีลักษณะเด่น มักกัดคนในบ้าน ใช้ตาได้ดีกว่ายุงอื่นทำให้ชอบออกหากินในช่วงเวลากลางวันทั้งช่วงเช้าและบ่าย พบได้ทุกฤดู แต่พบมากในช่วงฤดูฝน และอาจจะกัดมากกว่าหนึ่งคนจนกว่าจะอิ่ม แหล่งเพาะพันธุ์ของยุงทั้งสองชนิดสามารถพบได้ในภาชนะต่างๆ ที่มีน้ำสะอาดขัง ทั้งภายในบ้าน และรอบๆ บ้าน บางครั้งอาจพบลูกน้ำยุงลายทั้งสองชนิดอยู่ร่วมในภาชนะเดียวกัน ยุงลายมีการเจริญเติบโตแบ่งออกเป็น 4 ระยะ ได้แก่ ระยะไข่ ระยะตัวอ่อน ระยะดักแด้หรือ
ตัวโม่ง และระยะตัวเต็มวัย ในระยะตัวอ่อนลูกน้ำยุงลายกินอินทรียสารที่อยู่ในแหล่งน้ำเป็นอาหาร ระยะตัวเต็มวัยทั้ง
เพศผู้และเพศเมียกินน้ำหวาน เพื่อเป็นเหล่งพลังงาน อย่างไรก็ตามเฉพาะยุงเพศเมียเท่านั้นที่ดูดเลือด เพื่อนำโปรตีน
จากเลือดไปสร้างไข่ ดังนั้นยุงเพศเมียที่มีเชื้อสามารถถ่ายทอดเชื้อไวรัสสู่คนได้
ยุงลายบ้านและยุงลายสวน มีความสามารถในการรับเชื้อไวรัส เพิ่มปริมาณ และถ่ายทอดได้ เชื้อไวรัสเข้าสู่ยุงเพศเมียโดยการดูดเลือดจากผู้ป่วยไข้เลือดออก จากนั้นเชื้อเข้าสู่ระบบทางเดินอาหาร (Infect) เพิ่มจำนวน (Replicate) และแพร่กระจ่ายไปยังส่วนต่างๆ (Disseminate) รวมทั้งต่อมน้ำลาย ซึ่งเป็นส่วนที่มีความสำคัญต่อการถ่ายทอดเชื้อไวรัสก่อโรคไข้เลือดออก เมื่อยุงที่มีเชื้อดูดเลือดจากบุคคลถัดไป เชื้อจะถูกปล่อยเข้าสู่ร่างก่ายของผู้ที่ถูกยุงกัดเนื่องจากระหว่างการดูดกินเลือดยุงจะปล่อยน้ำลาย ซึ่งมีเชื้อโวรัส ทำให้ร่างกายของผู้ที่ถูกยุงกัดได้รับเชื้อ จากนั้นเชื้อไวรัสมีการเพิ่มจำนวนขึ้นในร่างกาย และอาจจะก่อให้เกิดอาการป่วยเกิดขึ้นได้ (อาการป่วยจะมากหรือน้อยหรือรุนแรงขึ้นอยู่กับระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายส่วนหนึ่ง)
อาการของโรคไข้เลือดออก (Dengue fever) เริ่มจากการมีไข้สูง ตัวร้อน ครั่นเนื้อครั่นตัว เป็นต้น หลังจากหายป่วยแล้วผู้ป่วยจะภูมิต้านทานโรค อย่างไรก็ตามผู้ที่เคยป่วยด้วยโรคไข้เลือดออกก็ยังสามารถเป็นโรคไข้เลือดออกได้ และมีความรุนแรงยิ่งขึ้น เนื่องจากเชื้อไวรัสมีทั้งหมดสี่สายพันธุ์ หากมีการรับเชื้อครั้งแรกเข้าไป ร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันแก่สายพันธุ์ที่ได้รับเชื้อเข้าไปครั้งแรก แต่อย่างไรก็ตามหากครั้งถัดไปได้รับเชื้อที่มีสายพันธุ์ที่แตกต่างไปจากครั้งแรก จะก่อให้เกิดอาการที่มักจะรุนแรงขึ้น และอาการอาจจะพัฒนาเป็น Dengue hemorrhagic fever และ Dengue shock syndrome ถึงขั้นเลือดออกหรือหมดสติ หรือเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
ขณะนี้ยังไม่มีวัคซีนหรือยาที่ใช้ป้องกันโรคไข้เลือดออกได้ร้อยเปอร์เซ็น การป้องกันไม่ให้ยุงลายกัดในเวลากลางวันดีที่สุด ซึ่งอาจใช้ การทายากันยุง (สารจากธรรมชาติหรือน้ำมันสมุนไพรไทย อาทิ ตะไคร้หอม ตะไคร้บ้าน กานพลู เป็นต้น) หรือทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายรอบๆ หรือในบ้าน การทำให้บ้านโปร่ง โล่ง มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก
ทำให้ไม่มีที่เกาะพักของยุงลายตัวเต็มวัย เป็นต้น